header.html


สมัครสมาชิก

มูลนิธิประเทศสีเขียว
โครงการประเทศสีเขียว
โครงการประเทศสีเขียว
โครงการธนาคารต้นไม้โลก
โครงการออมทรัพย์สีเขียว
GSP โครงการออมทรัพย์สีเขียว
บริษัท ดินดีน้ำใส จำกัด
A.B.N.INTER
พสุธาแพลนติ้ง
โครงการการศึกษาสีเขียว สู่มาตรฐานสากลอาเซี่ยน 2016(Green Education Project for ASEAN Community 2016)
ต้นเงินเศร
QR Code โครงการประเทศสีเขียว
QR Code โครงการประเทศสีเขียว
  Thai Eglish
วัตถุประสงค์โครงการประเทศสีเขียว

๓. วัตถุประสงค์

๓.๑ เพื่อป้องกันปัญหาอุทกภัยในระยะยาว และปัญหาภัยแล้งอย่างยั่งยืน ด้วยการสร้างผืนป่าใหม่และปลูกซ่อมผืนป่าเดิมที่ถูกทำลาย ทั้งป่าต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ รวมทั้งการปลูกเพิ่มและปลูกซ่อมพื้นที่ป่าชายเลน ป้องกันการพังทลายของพื้นที่ชายฝั่ง

๓.๒ เพื่อรณรงค์และดำเนินการปลูกป่าในชุมชน สถานศึกษา ศาสนสถาน ริมถนน ที่เสี่ยงภัยและอื่นๆโดยจัดรูปแบบการปลูกให้เกิดคุณค่าและบูรณาการให้มีสภาพใกล้เคียงกับป่า

๓.๓ เพื่อสร้างมูลค่าต้นไม้ที่ปลูกให้เป็นทรัพย์ หรือการออมทรัพย์ ใช้แก้ปัญหาความยากจนและป้องกันหรือลดการบุกรุกทำลายผืนป่าธรรมชาติ
๓.๔ เพื่อเพิ่มที่อยู่อาศัยแก่สัตว์ป่า

๔. เป้าหมาย

๔.๑.๑ ปลูกไม้ยืนต้นทุกชนิด เช่น พันธุ์ไม้ยืนต้นโตเร็ว พืชสมุนไพร รวมทั้งพันธุ์ไม้พลังงานทดแทนและป่าชายเลน จำนวน ๙๘๔ ล้านต้น เพิ่มพื้นที่สีเขียว จำนวน ๑๐ ล้านไร่ ทั่วประเทศ ภายในวันที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๗๐

๔.๑.๒   ประสานความร่วมมือกับทุกภาคส่วน ทั้งหน่วยงานราชการ ทุกกระทรวง ทบวง กรม และภาคเอกชน ภาคประชาชน ทุกองค์กร

๕. พื้นที่ดำเนินงาน

            ดำเนินงานโครงการฯ ด้วยการสร้างผืนป่าใหม่และปลูกซ่อมผืนป่าเดิมที่ถูกทำลาย โดยเริ่มดำเนินโครงการฯ ในพื้นที่ของจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศ ซึ่งในปี พ.ศ. ๒๕๕๗ เริ่มที่กรุงเทพมหานคร จังหวัดทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคใต้และภาคอื่นๆ ในปีต่อๆไป โดยได้รับการสนับสนุนพื้นที่ จากกรมพัฒนาที่ดิน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จำนวน ๕๐,๐๐๐ ไร่ พื้นที่ของกรมป่าไม้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และประสานความร่วมมือ เพื่อขอสนับสนุนพื้นที่จากหน่วยงานอื่นๆ ให้ครบจำนวน  ๑๐ ล้านไร่ ตามเป้าหมาย

    พื้นที่ดำเนินงานโครงการฯโดยสรุป
    ๑. พื้นที่ป่าไม้ต้นน้ำที่ถูกบุกรุก แผ้วถาง และป่าเสื่อมโทรม
    ๒. พื้นที่ตามไหล่เขา
    ๓. พื้นที่บริเวณต้นน้ำบนยอดเขาและเนินสูง
    ๔. พื้นที่บริเวณอ่างเก็บน้ำและเหนืออ่างเก็บน้ำ
    ๕. พื้นที่บริเวณลุ่มน้ำและแหล่งน้ำหลัก คือ ปิง วัง ยม น่าน สะแกกรัง ป่าสัก เจ้าพระยา และท่าจีน
    ๖. พื้นที่ส่วนใดส่วนหนึ่งของพื้นที่ชุมชนและพื้นที่ทำกิน
    ๗. พื้นที่ของสถานศึกษา ศาสนสถาน ริมถนน ริมทางรถไฟ และที่เสี่ยงภัยต่างๆ
    ๘. พื้นที่ปากแม่น้ำสำคัญต่างๆของประเทศ

๖. จุดเด่นของโครงการประเทศสีเขียว มีเครือข่ายความร่วมมือทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน องค์กรต่างๆ(ทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ) ประชาชนและเกษตรกรที่มาร่วมสนับสนุนการดำเนินงาน โครงการฯ ให้บรรลุตามวัตถุประสงค์

๗. แนวทางการดำเนินงาน

๗.๑ วางกรอบแผนการดำเนินงาน ประสานผู้ร่วมดำเนินการตามกลุ่มเป้าหมายและพื้นที่ทำ กิจกรรมโครงการฯ

๗.๒ ประสานและประชุมหารือระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วยจังหวัด หน่วยงาน สถาบันหรือองค์กรต่างๆในพื้นที่ดำเนินการ รวมทั้งประชาชน และเกษตร เพื่อชี้แจงรายละเอียดในการเข้าร่วมและการดำเนินงานโครงการฯ

๗.๓ ประสาน ติดต่อ กลุ่มเกษตรกร หรือหน่วยงานที่เพาะกล้าพันธุ์ไม้ เพื่อจัดเตรียมและคัดเลือกชนิดหรือสายพันธุ์ ให้เหมาะสมที่จะปลูกในแต่ละพื้นที่เป้าหมาย

๗.๔ จัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ ระหว่าง โครงการประเทศสีเขียว จังหวัด สถาบัน หน่วยงาน หรือองค์กรต่างๆ ที่เข้าร่วม เพื่อให้การดำเนินงานบรรลุเป้าหมาย

๗.๕ ดำเนินการจัดฝึกอบรมการเพาะปลูกกล้าพันธุ์ไม้ตามชนิดหรือสายพันธุ์ ที่เหมาะสมในแต่ละพื้นที่ ให้กับหน่วยงานพื้นที่ เพื่อเป็นการดูแลต้นไม้ที่ปลูก
๗.๖ ดำเนินการจัดส่งหรือรับกล้าพันธุ์ไม้ ตามจำนวนที่จะจัดปลูกในแต่ละพื้นที่

๗.๗ ประสานกับหน่วยงานพื้นที่ เพื่อดำเนินการปลูกกล้าพันธุ์ไม้ บนพื้นที่ตามจำนวนที่จัดเตรียมไว้

๗.๘ จัดให้มีผู้เชี่ยวชาญ ลงให้คำปรึกษา เพื่อแนะนำการเพาะปลูกในด้านต่างๆ ให้กับหน่วยงานพื้นที่

๗.๙ จัดให้มีเจ้าหน้าที่ (โดยใช้ประชาชนในพื้นที่) คอยดูแล บำรุงรักษา ให้น้ำ ให้ปุ๋ยหรือปลูกซ่อมเป็นเวลา ๑-๒ ปี เพื่อทำให้ต้นไม้ที่ปลูกเจริญเติบโตและคงอยู่ ก่อนที่จะส่งมอบให้หน่วยงานเจ้าของพื้นที่เป็นผู้ดูแลต่อไป ซึ่งทางโครงการฯ จะเป็นผู้จัดหาค่าใช้จ่ายต่างๆ ดังกล่าวและปุ๋ยมาให้การสนับสนุน

๗.๑๐ การสรุปและประเมินผลการดำเนินงาน

๘. ระยะเวลาดำเนินงาน

เริ่มดำเนินงาน ตั้งแต่ วันที่ ๒๓ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๕๓๕ ธันวาคม ๒๕๗๐

๙. วิธีการดำเนินงาน

ตั้งคณะกรรมการดำเนินงานกิจกรรมต่างๆ ของโครงการฯ ซึ่งคัดเลือกมาจากองค์กร หรือหน่วยงานต่างๆ ในพื้นที่ เพื่อดำเนินกิจกรรมแต่ละจังหวัด โดยทำข้อตกลงร่วมแบบไตรภาคีหรือสามฝ่าย เพื่อเป็นองค์กรในการดำเนินกิจกรรมโครงการฯ โดยมีโครงการประเทศสีเขียว เป็นองค์กรหลัก ร่วมกับ สถาบันการศึกษาประจำจังหวัดนั้นๆ หรือจากหน่วยงานอื่นที่มีความพร้อมเข้าร่วมโครงการฯ และจังหวัดเจ้าของพื้นที่ ส่วนหน่วยงานหรือองค์กรอื่นๆ สามารถเข้าร่วมหรือสนับสนุนโครงการฯ ได้ตามความพร้อมที่จะเข้าร่วมหรือสนับสนุน
          เพื่อให้เหมาะสมกับความเร่งด่วนในการฟื้นฟูป่าไม้ให้กลับคืนมาโดยเร็ว ตามเจตนารมณ์ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และนโยบายของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมทางคณะ กรรมการที่ปรึกษา คณะกรรมการอำนวยการ และคณะกรรมการดำเนินงานโครงการประเทศสีเขียว จึงได้มีมติใช้วิธีการดำเนินงานปลูกป่าของโครงการฯ เพื่อป้องกันและแก้ปัญหาอุทกภัย รวมทั้งปัญหาภัยแล้งอย่างยั่งยืน และลดภาวะโลกร้อน ตามแนวพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เรื่อง การปลูกป่า ๓ อย่าง ได้ประโยชน์ ๔ อย่าง , การปลูกป่าทดแทน ,การสร้างภูเขาป่า และการปลูกป่าชายเลน

๙.๑ การปลูกป่า ๓ อย่าง ได้ประโยชน์ ๔ อย่าง ตามแนวพระราชดำริ

      ๙.๑.๑ การจัดแบ่งที่ดินชุมชนหรือที่ดินทำกินอยู่เดิม ที่เป็นพื้นที่สวน ไร่หรือนา โดยมีการจัดแบ่ง ๓ รูปแบบ ดังนี้

                   แบบที่ ๑ ใช้พื้นที่รอบแนวเขตพื้นที่ชุมชนและพื้นที่ทำกิน โดยปลูกในพื้นที่ร้อยละ ๓๐-๕๐ ตามแนวเขตแดนพื้นที่ชุมชนและพื้นที่ทำกิน
                   แบบที่ ๒ ใช้พื้นที่ส่วนใดส่วนหนึ่งของพื้นที่ชุมชนหรือพื้นที่ทำกิน ออกมาเพื่อปลูกป่าอย่างชัดเจน โดยปลูกในพื้นที่ร้อยละ ๓๐-๕๐
                   แบบที่ ๓ ใช้พื้นที่ปลูกเป็นริ้วหรือแถบตามความเหมาะสม

      ๙.๑.๒ การจัดแบ่งพันธุ์ไม้ตามวัตถุประสงค์ โดยการปลูกพันธุ์ไม้ในพื้นที่ตามความเหมาะสม แต่ให้ได้องค์ประกอบเพื่อให้เกิดความพออยู่ พอกิน พอใช้ และให้เกิดประโยชน์ต่อระบบนิเวศน์ ดังนี้

              ๙.๑.๒.๑ ปลูกเพื่อให้เกิดความเพียงพอ ในด้านการพออยู่ คือ การปลูกต้นไม้สำหรับใช้เนื้อไม้มาปลูกสร้างอาคาร บ้านเรือน ที่อยู่อาศัย เช่น ไม้สัก ไม้ตะเคียนทอง ยางนา มะฮอกกานี กระถินเทพา จำปาทอง ฯลฯ
              ๙.๑.๒.๒ ปลูกเพื่อให้เกิดความเพียงพอ ในด้านการพอกิน คือ การปลูกต้นไม้สำหรับใช้กินเป็นอาหาร เป็นยาสมุนไพร เป็นเครื่องดื่ม ตลอดจนพืชที่ปลูกเพื่อการค้าขายผลผลิตเพื่อดำรงชีพ เช่น ไม้ผลต่างๆ ได้แก่ เงาะ สะตอ ทุเรียน มังคุด ลองกอง มะม่วง ฯลฯ และไม้ที่ให้ผลผลิตเพื่อขาย เช่น ปาล์ม มะพร้าว ยางพารา ฯลฯ
              ๙.๑.๒.๓ ปลูกเพื่อให้เกิดความเพียงพอ ในด้านการพอใช้ คือ การปลูกต้นไม้สำหรับใช้สอยในครัวเรือน ใช้พลังงาน ใช้เป็นเครื่องมือต่างๆในการประกอบอาชีพ หรือเครื่องมือการเกษตร เช่น ไม้ไผ่ หวาย สำหรับจักสานเป็นเครื่องเรือน เครื่องใช้ ฯลฯ ไม้โตเร็วบางชนิดสำหรับตัดกิ่งมาเผาถ่าน หรือที่ใช้เป็นไม้ฟืน ตลอดจนไม้ที่ใช้สำหรับก่อสร้างและหัตถกรรม เช่น ขี้เหล็ก ประดู่ แค กระถินยักษ์ และสะเดา ฯลฯ
ไม้พลังงาน เช่น สบู่ดำ ปาล์ม ฯลฯ
              ๙.๑.๒.๔ ปลูกเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อระบบนิเวศน์ คือการปลูกต้นไม้หรือปลูกพืชหลากหลาย อย่างเป็นระบบ ซึ่งจะช่วยสร้างสมดุลของระบบนิเวศน์ในที่ดินหรือในสวน ช่วยปกป้องผิวดินให้ชุ่มชื้นดูดซับน้ำฝน ลดความรุนแรงของกระแสน้ำหลาก

๙.๒ การปลูกป่าทดแทน ตามแนวพระราชดำริ ซึ่งมีวิธีการปลูกตามสภาพภูมิศาสตร์และสภาวะแวดล้อมของพื้นที่ที่เหมาะสม ดังนี้
     ๙.๒.๑ การปลูกป่าทดแทนในพื้นที่ป่าไม้ต้นน้ำที่ถูกบุกรุกแผ้วถาง และพื้นที่ป่าเสื่อมโทรม โดยการเร่งปลูกต้นไม้ชนิดโตเร็วคลุมแนวร่องน้ำ เพื่อทำให้ความชุ่มชื้นค่อยๆแผ่ขยายออกไปทั้งสองร่องน้ำ ซึ่งจะทำให้งอกงามและมีส่วนช่วยป้องกันไฟป่า หลังจากนั้นก็ให้ปลูกต้นไม้โตเร็วในพื้นที่ถัดไป ความชุ่มชื้นก็จะแผ่ขยายกว้างออกไปอีก ต้นไม้ที่ปลูกจะงอกงามดีตลอดปี
     ๙.๒.๒ การปลูกป่าทดแทนตามไหล่เขา โดยการปลูกต้นไม้หลายๆชนิด เพื่อให้ได้ประโยชน์อเนก ประสงค์ คือ มีทั้งไม้ผล ไม้สำหรับก่อสร้าง และไม้สำหรับทำฟืน ซึ่งเมื่อตัดไม้ใช้แล้วให้ปลูกทดแทนหมุนเวียนทันที
     ๙.๒.๓ การปลูกป่าทดแทนบริเวณต้นน้ำบนยอดเขาและเนินสูง โดยการปลูกไม้ยืนต้นและปลูกต้นไม้ที่ใช้ทำฟืน เพื่อให้ราษฎรที่ปลูกและดูแลสามารถตัดไปใช้ได้ แต่ต้องให้มีการปลูกทดแทนเป็นระยะ ส่วนไม้ยืนต้นจะช่วยให้อากาศมีความชุ่มชื้น ซึ่งเป็นขั้นตอนหนึ่งของระบบการให้ฝนแบบธรรมชาติ ทั้งยังช่วยยึด
ดินบนเขาไม่ให้พังทลาย เมื่อเกิดฝนตกอีกด้วย
     ๙.๒.๔ การปลูกป่าบริเวณอ่างเก็บน้ำ หรือเหนืออ่างเก็บน้ำที่ไม่มีความชุ่มชื้นยาวนานพอ
     ๙.๒.๕ การปลูกป่าเพื่อพัฒนาลุ่มน้ำและแหล่งน้ำ เพื่อให้มีน้ำสะอาดบริโภค
     ๙.๒.๖ การปลูกป่าให้ราษฎรมีรายได้เพิ่มขึ้น โดยให้ราษฎรในท้องที่นั้นๆเข้ามามีส่วนร่วมในการปลูกและดูแลรักษาต้นไม้ให้เจริญเติบโต เพื่อเป็นการปลูกฝังจิตสำนึกให้ราษฎรเห็นความสำคัญของการปลูกป่า
     ๙.๒.๗ การปลูกป่าเสริมธรรมชาติ เพื่อเป็นการเพิ่มที่อยู่อาศัยแก่สัตว์ป่า

๙.๓ การสร้างภูเขาป่า ตามแนวพระราชดำริ ซึ่งเป็นทฤษฎีการพัฒนาฟื้นฟูป่าไม้บริเวณภูเขาเสื่อมโทรม โดยใช้ความรู้เบื้องต้นทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาเป็นหลักดำเนินการ มี ๒ ประการ คือ
     ๙.๓.๑ พื้นที่ที่มีแหล่งน้ำใกล้เคียง ให้มีการสร้างฝายขนาดเล็กชลอความชุ่มชื้น หรือที่เรียกว่า Check Dam ปิดกั้นร่องน้ำในเขตต้นน้ำลำธาร เพื่อใช้เก็บกักน้ำและตะกอนดินไว้บางส่วน ทำให้น้ำที่เก็บไว้ไหลซึมไปสะสมในดิน แผ่กระจายความชุ่มชื้นออกไปได้กว้างขวางทั้งสองด้าน กลายเป็น"ป่าเปียก" ช่วยฟื้นฟูสภาพป่าในบริเวณที่สูงให้สมสมบูรณ์ขึ้น บริเวณดังกล่าวจะได้กลายเป็น"ภูเขาป่า"ในอนาคต ทำให้มีต้นไม้นานาชนิดปกคลุมดินในอัตราหนาแน่นและเหมาะสมกับลักษณะภูมิประเทศแต่ละแห่ง ซึ่งต้นไม้เหล่านั้นจะมีผลช่วยรักษาระดับความชุ่มชื้นในธรรมชาติให้อยู่ในเกณฑ์ที่พอเหมาะ ไม่แห้งแล้งเกินไปและยังช่วยยึดผิวดินอันมีค่า ไม่ให้ถูกน้ำเซาะทลายลงมายังพื้นที่ราบอีกด้วย
     ๙.๓.๒ พื้นที่ที่ไม่มีแหล่งน้ำ ให้หาวิธีการส่งน้ำไปยังจุดที่สูงที่สุดเท่าที่จะดำเนินการได้ โดยใช้เครื่องสูบน้ำพลังงานธรรมชาติ เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ และพลังงานลม เพื่อให้สามารถกระจายน้ำให้ค่อยๆไหลซึมลงมาหล่อเลี้ยงกล้าไม้อ่อน ซึ่งมีทั้งพันธุ์ไม้โตเร็วและพันธุ์ไม้ป้องกันไฟป่าที่ปลูกทดแทนไว้บนภูเขาได้ตลอด เวลา โดยเฉพาะช่วงฤดูแล้งกล้าไม้มักมีอัตราสูญเสียค่อนข้างสูง ซึ่งเมื่อกล้าไม้เจริญเติบโตพอสมควรจนสามารถทนทานต่อสภาวะแห้งแล้งได้แล้ว ในอนาคตภูเขาในบริเวณดังกล่าวก็จะคืนสภาพเดิม เป็นภูเขาป่าที่มีความชุ่มชื้นพอสมควร ตลอดจนจะช่วยฟื้นฟูสภาพแวดล้อมในตอนล่างไม่ให้กลายเป็นดินแดนแห้งแล้ง

๙.๔ การปลูกป่าชายเลน หรือป่าโกงกาง โดยการสร้างผืนป่าใหม่และปลูกซ่อมผืนป่าชายเลนเดิมที่ถูกทำลาย เพื่อเป็นการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัยที่ปลายน้ำในระยะยาว รวมทั้งเพื่อป้องกันการพังทลายของพื้นที่ชายฝั่ง

๑๐. หน่วยงานที่รับผิดชอบ

               มูลนิธิประเทศสีเขียว เป็นหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบโครงการฯ โดยได้รับการสนับสนุน จากหน่วยงานหรือองค์กรต่างๆ ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน

๑๑. ผลที่คาดว่าจะได้รับ

๑๑.๑ ประเทศไทยมีป่าไม้เพิ่มขึ้นมากกว่า ๑๐ ล้านไร่ ภายในระยะเวลา ๑๗ ปี และเกิดป่าไม้ใหม่อย่างต่อเนื่อง

๑๑.๒ หน่วยงานราชการ องค์กรต่างๆ เกษตรกรและประชาชน เกิดกระแสตื่นตัวและตระหนักถึงภาวะโลกร้อน ปัญหาสิ่งแวดล้อม พร้อมที่จะร่วมมือ เพื่อช่วยลดและแก้ปัญหาดังกล่าว รวมทั้งเกิดองค์กรท้องถิ่น ในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในระดับมหาวิทยาลัย เขตหรืออำเภอและชุมชน

๑๑.๓ สนับสนุนการปลูกไม้เศรษฐกิจในประเทศไทย โดยการส่งเสริมอย่างจริงจัง จากหน่วยงานของรัฐเพื่อทำให้เกษตรกรมีรายได้ต่อปีเพิ่มขึ้น จากการปลูกป่าทดแทน และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ทั้งยังช่วยเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้กับประเทศ

๑๑.๔ ได้รวมดวงใจของคนไทยจากทุกภาคส่วน เพื่อแสดงออกซึ่งความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยใช้ชื่อในการจัดกิจกรรมหรือจัดงานทั่วประเทศว่ารวมดวงใจ ปลูกต้นไม้ ๙๘๔ ล้านต้น อนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ร่วมสร้างประเทศสีเขีย , คืนความสุข คืนผืนป่ และ ประชารัฐ จิตอาสา ร่วมฟื้นคืนผืนป่า
 
Copyright © GREENCOUN.COM 2008 All rights reserved
20 ซอย รามคำแหง 170 แยก 3 แขวงมีนบุรี กรุงเทพมหานคร 10510
Tel : 02-917-4760-1 , 02 540 2048-9 Fax : 02-917-4761
Mobile : 091-795-3619

เช่าโฮส, hosting, ออกแบบเว็บไซต์,ไทยบางกอกโฮสท์